ผลการดำเนินโครงการ

ผลการดำเนินโครงการ

 

การวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอันเป็นผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Contribution to GDP)

หนึ่งในความสำคัญของการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Contribution to GDP) เพื่อเป็นการประเมินศักยภาพและวัดขีดความสามารถของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทยรวมทั้งเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลภายในประเทศไทย โดยปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้มีการจัดทำการวัดมูลค่ากิจกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยมีการกำหนดขอบเขตกิจกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม 50 สาขา และมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลจำนวน 134 กิจกรรม

นิยาม ความหมาย และขอบเขต

โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลจากการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Contribution to GDP) มีการจัดทำการวัดมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศตามกรอบแนวทางของระบบบัญชีประชาชาติ ซึ่งโดยปกติการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP มีวิธีการจัดทำ 3 วิธี (Approaches) ได้แก่ ด้านการผลิต (Production approach) ด้านรายได้ (Income approach) และด้านรายจ่าย (Expenditure approach) โดยมูลค่าที่คำนวณได้จากทั้งสามด้านต้องมีค่าเท่ากัน ทั้งนี้ในการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล มีการกำหนดขอบเขตและจำแนกประเภทอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทยโดยนำแนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาประยุกต์ใช้ในการกำหนดขอบเขต และการจำแนกรายการของกิจกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย

ในโครงการนี้การกำหนดขอบเขตของเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นไปตามนิยามของ OECD ที่ให้แนวคิดพื้นฐานว่า เศรษฐกิจดิจิทัลครอบคลุมกิจกรรมการผลิตตามมาตรฐานประเภทอุตสาหกรรมสากล (ISIC rev4) ประกอบด้วย ICT sector และ Content sector และยังให้ความสำคัญกับ ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-business) การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) และการเงินดิจิทัล รวมถึงกิจกรรมที่ดำเนินในรูปแบบ digitally ordered, digitally delivered และ Digital Platform นอกจากนั้น ตามแนวคิดของ OECD ที่ระบุใน Roadmap toward a common framework for measuring the digital economy ได้แบ่งระดับของการวัดเศรษฐกิจดิจิทัลออกเป็น 5 ระดับได้แก่ ระดับพื้นฐาน (Core), ระดับแคบ (Narrow), ระดับกว้าง (Broad),  Digital society และ The additional measure economic activity, digitally ordered and/ or digitally delivered ซึ่งแสดงดังรูป และมีรายละเอียดดังนี้

1. การวัดเศรษฐกิจดิจิทัลระดับพื้นฐาน (Core) เป็นการวัดมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการผลิตสินค้าด้าน ICT และบริการสารสนเทศ (Information Services) ได้แก่ การผลิตฮาร์ดแวร์ บริการสารสนเทศ การให้คำปรึกษาทางด้านไอทีและซอฟท์แวร์ และการโทรคมนาคม

2. การวัดเศรษฐกิจดิจิทัลระดับแคบ (Narrow) เป็นการวัดมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รวมอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน และรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของธุรกิจที่พึ่งพาดิจิทัลเป็นปัจจัยในการดำเนินธุรกิจ (Digital Inputs) ได้แก่ บริการดิจิทัลหรือบริการทางออนไลน์ และเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (Platform Economy) การผลิตดิจิทัลคอนเทนส์ การผลิตสื่อดิจิทัล การค้าขายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ การบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ การบริการทางธุรกิจที่ให้บริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

3. การวัดเศรษฐกิจดิจิทัลระดับกว้าง (Broad) เป็นการวัดมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รวมอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานและระดับแคบ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากหน่วยธุรกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยการใช้ปัจจัยการผลิต ได้แก่ ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-business) การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) เศรษฐกิจแบบอัลกอริทึม (Algorithmic economy)

4. Digital society คือ เศรษฐกิจดิจิทัลในความหมายระดับสมบูรณ์หรือสังคมดิจิทัลครอบคลุมเศรษฐกิจดิจิทัลในความหมายระดับพื้นฐาน ระดับแคบ ระดับกว้าง และครอบคลุมบริการทางดิจิทัลที่ให้โดยไม่คิดเงิน (Free digital services) หรือกิจกรรมในลักษณะแบ่งปันระหว่างสมาชิกในสังคม

5. The additional measure economic activity, digitally ordered and/ or digitally delivered คือ การวัดเศรษฐกิจดิจิทัลในอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งพิจารณาจากลักษณะของธุรกรรมมากกว่าการจำแนกตามผลผลิตหรือกระบวนการผลิต โดยวิธีนี้เป็นการมุ่งเน้นวิธีการสั่งซื้อหรือนำส่ง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลผลิตหรือวิธีการผลิต

ในการวัดค่าเศรษฐกิจใน 3 ระดับแรกนั้น ระบบบัญชีประชาชาตินับรวมไว้ด้วยแล้ว แต่ในระดับที่ 4 ยังไม่ได้นับรวมในการวัดค่าเศรษฐกิจดิจิทัล ในการศึกษานี้จึงมุ่งวัดในระดับพื้นฐาน (Core) และระดับแคบ (Narrow) เป็นหลัก ส่วนระดับกว้าง (Broad) อาจจะพิจารณาได้ยากว่าควรจะนับรวมอย่างไรให้เหมาะสม เนื่องจากอาจมีบางกิจกรรมที่รวมได้ เช่น บริการจัดทำบัญชีธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น ส่วนในระดับ  Digital Society เป็นกิจกรรมที่ยังไม่สามารถกำหนดวิธีการวัดค่าทางเศรษฐกิจได้ในระบบบัญชีประชาชาติ การศึกษาครั้งนี้จึงไม่ได้นับรวมอยู่ในขอบเขตเศรษฐกิจดิจิทัลไว้ด้วย

กรอบแนวคิดการพัฒนาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์สำหรับการวัดมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัล แบบเครื่องชี้เร็ว (Rapid Tracker)

จากการศึกษานิยามขอบเขตและองค์ประกอบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัล และวิธีการวัดมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่ผ่านมาของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า วิธีการวัดมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลในรูปแบบดังกล่าว มีความแม่นยำและสมบูรณ์ แต่ใช้ระยะเวลาเก็บข้อมูลยาวนาน เนื่องจากต้องใช้ข้อมูลเป็นจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลา และทรัพยากรในการเก็บข้อมูลดังกล่าวมาก จึงเป็นที่มาของการนำเสนอกรอบแนวคิดวิเคราะห์และการพัฒนาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์สำหรับการวัดมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัล ในรูปแบบการพยากรณ์มูลค่าของกิจกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล แบบ Nowcasting ทางที่ปรึกษาใช้ข้อมูลที่เป็นตัวแปรที่มีความถี่สูง หรือเรียกว่า เครื่องชี้เร็ว (Rapid Tracker) มาช่วยทำการพยากรณ์ ซึ่งสามารถทำการพยากรณ์อัตราการเจริญเติบโตของ Digital GDP ได้ทันที โดยไม่ต้องรอการรวบรวมข้อมูลให้เหมาะกับเวลาที่จะพยากรณ์ ถึงจะทำการพยาการณ์ได้ วิธีนี้มีข้อแตกต่างจากวิธี Forecasting เพราะวิธีการแบบ Forecasting จำเป็นที่ต้องรอให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนด ถึงจะสามารถทำการพยากรณ์ได้ 

ในโครงการนี้จะพัฒนาการวัดเครื่องชี้เร็ว คู่ขนานกับระบบการวัดมูลค่า ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลรูปแบบเดิม หากแต่ในการจัดทำระบบดังกล่าวขึ้นมา เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการวัดมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลให้ทันการณ์มากยิ่งขึ้น กล่าวอีกครั้งคือ การพยาการณ์แบบ Nowcasting  เป็นพยากรณ์ในลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องรอการเก็บข้อมูลที่ยาวนานเพราะข้อมูลที่ต้องใช้ในการวิเคราะห์สามารถเก็บได้ทันทีแบบ Real-time ตามฐานข้อมูลที่มีการ update อย่างต่อเนื่องทุกเวลา และข้อมูลดังกล่าวยังสามารถที่จะใช้พยากรณ์ Digital GDP ในอนาคตได้อย่างทันที (Nowcasting) หลักการเบื้องต้นทั่วไปในการทำการวิเคราะห์และพยากรณ์แบบ Nowcasting เป็นการพยากรณ์หรือคาดการณ์ในอนาคตอันใกล้ หรือเป็นแบบ Real-time Prediction โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ แบบจำลองอาจสามารถยอมให้มีตัวแปรที่มีความถี่ต่างกัน (Mixed Frequency) มาใช้ในการพยากรณ์ ในการกำหนดตัวแปร (เครื่องชี้เร็ว (Rapid Tracker) ที่ใช้ในการพยากรณ์ แบบ Nowcasting จะมีการกำหนดตัวแปรที่สามารถใช้ในการพยากรณ์ (Predictors) Digital GDP มาจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ และนักเศรษฐศาสตร์ เมื่อมีการระบุตัวแปรที่ใช้ในการพยากรณ์ได้แล้ว ก็จะนำตัวแปรพยากรณ์เหล่านั้นทำการหา ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ หรือ The correlation coefficient ซึ่งโดยปกติแล้ว ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ดังกล่าว จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 ถ้าค่าดังกล่าวเข้าใกล้ 1 แสดงว่า ตัวแปรที่ใช้ในการพยากรณ์ Digital GDP มีประสิทธิภาพและสามารถนำมาใช้ในการพยากรณ์ Digital GDP ได้ และในทางตรงกันข้าม ถ้าค่าดังกล่าวเข้าใกล้ 0 แสดงว่า ตัวแปรที่ใช้ในการพยากรณ์ Digital GDP ตัวแปรนี้ไม่มีประสิทธิภาพและตัวแปรนี้ ไม่สามารถนำมาใช้ในการพยากรณ์ Digital GDP ได้ ในการจัดหาตัวแปร(เครื่องชี้เร็ว (Rapid Tracker) ที่ใช้ในการพยากรณ์Digital GDP ครั้งนี้ จะกำหนดว่าตัวแปรที่ถูกเลือกมาจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ และนักเศรษฐศาสตร์จะต้องเป็นตัวแปรพยากรณ์ที่มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์มากกว่า 0.7 – 0.9  ถึงจะนำตัวแปรนั้นมาใช้ในการพยากรณ์ Digital GDP ทั้งนี้ ตัวแปรพยากรณ์ทุกตัวจะมีการปรับเปลี่ยนและทดสอบอยู่ตลอดเวลา โดยวิธีที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อปรับปรุงการพยากรณ์ Digital GDP ของประเทศให้มีความแม่นยำและยังสามารถนำผลการพยากรณ์ไปใช้ในการวิเคราะห์เชิงการปรับปรุงนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยมีการพัฒนาบนพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy เพิ่มมากขึ้นต่อไป

สำหรับข้อมูลการวิเคราะห์เครื่องชี้เร็วในเบื้องต้น ได้แสดงเป็น Dashboard ดังนี้

 

การพัฒนาระบบนำร่องสำหรับโครงการฯ

โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Contribution to GDP) โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นการพัฒนาระบบการวัดและประมวลผลมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยใช้แนวคิดของเครื่องชี้เร็ว (Rapid Tracker : RT) ในการชี้ถึงแนวโน้มของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น หรือลดลง โดยเครื่องชี้เร็วจะเพิ่มประสิทธิภาพการวัดในเชิงเวลา โดยจากเดิมที่การวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล จะวัดคาบเวลารายปี (Annually) และอาจจะใช้เวลา 1 – 2 ปีในการรวบรวมข้อมูล แต่เครื่องชี้เร็วจะวัดคาดเวลาในระดับรายเดือน (Monthly) และใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ในการคำนวณแนวโน้มของมูลค่าเศรษฐกิจในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วขึ้น นอกจากนั้น ในโครงการนี้ ยังจะทำการทำนาย (Predict) แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเครื่องชี้เร็วไปข้างหน้า และยังทำนายกลับไปยังมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในปีถัดไปอีกด้วย

จากที่มาดังกล่าว โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตัวแบบเพื่อใช้ทำนายเครื่องชี้เร็ว และมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล และทำการจัดเก็บข้อมูลเครื่องชี้เร็ว เพื่อป้อนให้กับตัวแบบดังกล่าวอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การทำนายทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถนำเสนอข้อมูลเครื่องชี้เร็ว และมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

รูปด้านบนแสดงภาพรวมแนวคิดของโครงการ โดย

ในขั้นตอนที่ 1 ที่ปรึกษาทางเศรษฐศาสตร์จะทำการรวบรวมเครื่องชี้เร็ว (Rapid Tracker) ที่มีศักยภาพ และมีคุณสมบัติที่เหมาะสม กล่าวคือ มีข้อมูลย้อนหลัง 3 – 4 ปี มีความถี่ของข้อมูลในระดับรายเดือน และสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเมื่อได้รายการของเครื่องชี้เร็วแล้ว ก็จะทำการยืนยันเทียบกับข้อมูลมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลรายกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อหาเครื่องชี้เร็วที่เหมาะสมกับมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น ซึ่งการยืนยันจะอาศัยความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และการตรวจสอบเชิงสถิติเพื่อหาเครื่องชี้เร็วที่สอดคล้องกับมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น

ในขั้นตอนที่ 2 เมื่อได้รายการเครื่องชี้เร็วที่มีความเหมาะสมแล้ว ก็ต้องทำการจัดเก็บข้อมูลเครื่องชี้เร็วอย่างสม่ำเสมอตามรอบของการทำงาน และต้องจัดเก็บให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม สามารถนำไปใช้งานต่อได้

ในขั้นตอนที่ 3 ที่ปรึกษาทางเศรษฐศาสตร์จะทำการพัฒนาตัวแบบทางสถิติเพื่อทำนายมูลค่าเครื่องชี้เร็วรายเดือนในอนาคตโดยใช้ข้อมูลเครื่องชี้เร็วรายเดือนในอดีต ซึ่งมูลค่าเครื่องชี้เร็วรายเดือนในอนาคตจะแสดงถึงแนวโน้มของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกชี้โดยเครื่องชี้เร็ว

ในขั้นตอนที่ 4 และ 5 ที่ปรึกษาทางเศรษฐศาสตร์จะทำการพัฒนาตัวแบบทางสถิติเพื่อทำนายมูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลรายปี โดยใช้ข้อมูลมูลค่าเครื่องชี้เร็ว

เมื่อได้พัฒนาตัวแบบทางสถิติต่างๆ  แล้ว เพื่อให้ข้อมูลที่เก็บในโครงการ และ ตัวแบบที่พัฒนาขึ้น เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนในวงกว้าง และ ลดภาระงานของผู้ปฏิบัติงาน ในโครงการนี้ จึงได้พัฒนาระบบสารสนเทศนำร่อง (Prototype Information System) ที่จะทำการรวมรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ และ ทำการประมวลผล รวมถึงแสดงผลในรูปแบบ Dashboard เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และ ชัดเจน